ดูแลรักษารถเข็นไฟฟ้าอย่างไร ให้ใช้งานได้นาน ๆ

Last updated: 17 ม.ค. 2566  |  951 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รถเข็นไฟฟ้า

ดูแลรักษารถเข็นไฟฟ้าอย่างไร ให้ใช้งานได้นาน ๆ

5 วิธีดูแลรักษารถเข็นไฟฟ้า เพื่อยืดอายุการใช้งาน และข้อควรระวังในการใช้งาน


รถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้านั้น เป็นอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยหรือคนชราที่มีราคาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นการใช้งานที่ค่อนข้างจะสมบุกสมบันเสียด้วย เพราะอาจต้องมีการนำรถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าออกไปใช้ข้างนอก ซึ่งจะควบคุมสภาพแวดล้อมได้ยากกว่าการใช้งานรถเข็นไฟฟ้าในบ้านหรือในอาคาร จึงอาจทำให้รถเข็นไฟฟ้ามีอายุการใช้งานที่สั้นลง หากไม่ได้รับการดูแลอย่างใส่ใจและถูกวิธี

 

หากอยากให้รถเข็นไฟฟ้าหรือรถวีลแชร์ไฟฟ้า มีอายุการใช้งานที่นานสมราคา ก็ควรจะต้องมีการตรวจเช็คสภาพ และมีการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ

โดยจะต้องแยกการดูแล และการบำรุงรักษารถเข็นไฟฟ้าหรือรถวีลแชร์ไฟฟ้า ออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

    1. การดูแลรักษา Joystick หรืออุปกรณ์ควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของรถวีลแชร์ไฟฟ้า
      Joystick เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างมากสำหรับรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้า เพราะเป็นแผงวงจรไฟฟ้าที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนที่ของรถ ดังนั้นควรป้องกันไม่ให้ Joystick โดนน้ำโดยเด็ดขาด แต่หาก Joystick เกิดโดนน้ำหกใส่ หรือเปียกน้ำขึ้นมา ก็ควรงดใช้ Joystick หรือรถเข็นไฟฟ้าชั่วคราว และรีบทำให้ Joystick แห้ง ด้วยการซับน้ำที่เปียกออกให้หมด และอาจใช้ซองดูดความชื้นวางไว้ด้านบนของแผงวงจร เพื่อช่วยดูดความชื้นที่เกิดจากน้ำ ให้ออกจากชิ้นส่วนภายในแผงวงจร

      นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้ Joystick ด้วยความรุนแรง และควรระวังไม่ให้ Joystick ไปกระแทกเข้ากับสิ่งใด เพราะอาจไปกระทบกับระบบการทำงานของแผงวงจรไฟฟ้าได้

      เคล็ดลับสำคัญในการใช้ Joystick ของรถวีลแชร์ไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าอย่างถูกวิธี คือควรรอสัก 10 - 30 วินาทีหลังเปิดเครื่อง ให้ไฟบนระบบแผงวงจรขึ้นครบแล้ว จึงค่อยใช้งาน Joystick ตามปกติ เพื่อให้ไฟฟ้าเดินเข้าระบบของ Joystick อย่างทั่วถึงก่อนการใช้งาน

    2. การดูแลแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้า 
      การใช้งานสิ่งใดก็ตามที่มีแบตเตอรี่ ควรจำไว้ว่าห้ามทิ้งสิ่งนั้นไว้เฉย ๆ โดยปราศจากการใช้งาน ซึ่งการใช้งานรถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าก็เช่นกัน ไม่ควรวางทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งาน เพราะจะทำให้ขาดประจุไฟฟ้าไหลเวียนภายในแบตเตอรี่ และอาจทำให้แบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้าเสื่อมสภาพ จนใช้งานไม่ได้

      ข้อสำคัญอีกประการ คือควรชาร์จแบตเตอรี่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และนำรถรถเข็นไฟฟ้าออกมาเปิดระบบใช้งานบ้าง 10 - 15 นาที เพื่อเป็นการกระตุ้นแบตเตอรี่ และไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่ของรถวีลแชร์ไฟฟ้าขาดการชาร์จไฟเข้าเป็นเวลานาน ๆ เพราะแบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพ และชาร์จไฟไม่เข้าอีกเลย จนอาจต้องทำการเปลี่ยนแบตใหม่ก่อนเวลาอันควร

      สิ่งสำคัญที่ควรระวังขณะใช้งานรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้า คือการคอยสังเกตไฟเตือนสถานะแบตเตอรี่อยู่เสมอ เมื่อรู้สึกว่าใกล้ถึงช่วงเวลาที่แบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้าจะหมด (โดยดูจากระยะทางที่ใช้ ซึ่งแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้าแต่ละรุ่น จะมีระยะทางการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามขนาดกำลังไฟของแบตเตอรี่ ซึ่งบางรุ่นสามารถใช้งานได้นานถึง 15 กิโลเมตร) หากเห็นว่าแบตเตอรี่ใกล้หมด โดยไฟแสดงสถานะขึ้นสีส้มหรือสีแดง ให้รีบชาร์จแบตเตอรี่ทันที ห้ามปล่อยให้แบตเตอรี่ของรถผู้ป่วยไฟฟ้าหมดขณะใช้งานโดยเด็ดขาด และควรรอให้แบตเตอรี่ใกล้จะหมดก่อน จึงค่อยชาร์จไฟ ไม่ควรชาร์จแบตเตอรี่บ่อย ๆ เพราะอาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมได้เช่นกัน

      และสิ่งสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงคือการใช้ที่ชาร์จที่ทางร้านจำหน่ายรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าให้มาพร้อมกับรถเข็นเท่านั้น ห้ามใช้ที่ชาร์จอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ เพราะการใช้ที่ชาร์จที่ให้มากับตัวรถ สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาเรื่องกำลังวัตต์ และการประจุไฟ

    3. การดูแลเบาะที่นั่ง
      เมื่อใช้งานรถผู้ป่วยไฟฟ้าไปนาน ๆ ย่อมต้องเกิดคราบสกปรกเปรอะเปื้อนเบาะที่นั่งเป็นธรรมดา หรือระหว่างการใช้งาน ก็อาจมีอาหารหรือเครื่องดื่มหกใส่ได้ ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาความสะอาดของเบาะที่นั่งรถเข็นไฟฟ้าอยู่เสมอ เพื่อสุขอนามัยของผู้ป่วย หรือคนชราที่ใช้งานรถเข็น


      โดยปกติแล้วเบาะที่นั่งของรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าจะทำมาจากผ้าตาข่ายที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อช่วยป้องกันแผลกดทับ และยังแห้งไว ไม่อับชื้น สามารถทำความสะอาดได้ง่าย อีกทั้งรถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าบางรุ่น ยังสามารถถอดเบาะที่นั่งออกมาทำความสะอาดได้ด้วย

      การทำความสะอาดเบาะที่นั่งรถเข็นไฟฟ้า ทำได้ง่าย ๆ เพียงนำไปแช่น้ำที่ผสมผงซักฟอกแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือหากเป็นรถเข็นไฟฟ้ารุ่นที่ไม่สามารถถอดเบาะที่นั่งออกได้ ก็ให้ใช้ผ้าที่มีเนื้ออ่อนนุ่มชุบน้ำสบู่อ่อน ๆ เช็ดทำความสะอาดรอยเปื้อน จากนั้นควรนำไปตากลมให้แห้ง ระวังอย่าให้โดนแดดที่แรงเกินไป เพราะอาจทำให้วัสดุเสื่อมสภาพ และไม่ควรใช้แปรงขัดถูเบาะที่นั่งของรถเข็นไฟฟ้าไปมา เพราะอาจทำให้เนื้อผ้าของเบาะเป็นขุยและอย่าลืมเช็ดทำความสะอาดพนักพิงของรถเข็นไฟฟ้าด้วย

    4. การดูแลมอเตอร์ของล้อรถเข็นไฟฟ้า
      มอเตอร์ของรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้า เป็นส่วนที่คอยขับเคลื่อนล้อรถเข็นให้หมุนไปในทิศทางที่ต้องการ และช่วยให้รถเข็นไฟฟ้าเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือข้างหลัง และยังสามารถปรับระดับความเร็วได้ ด้วย โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะอยู่ที่บริเวณล้อรถด้านหลังทั้งสองข้าง ซึ่งหากไม่ต้องการใช้งานมอเตอร์ไฟฟ้า ก็สามารถปรับให้ล้อรถเข็นไฟฟ้าหรือรถวีลแชร์ไฟฟ้า ทำงานแบบแมนวลได้

      การดูแลรักษามอเตอร์ของรถเข็นไฟฟ้าหรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าให้ใช้งานได้นาน ๆ สามารถทำได้ง่ายมาก เพียงระวังไม่ใช้งานระบบมอเตอร์ไฟฟ้าของล้อรถเข็นไฟฟ้าในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง และไม่ใช้งานขณะฝนตก เพื่อป้องกันไม่ให้มอเตอร์ช็อตจนเกิดความเสียหาย หากมีความจำเป็นต้องใช้งานในขณะฝนตก หรือจำเป็นต้องเคลื่อนรถเข็นไฟฟ้าผ่านน้ำท่วมขัง ควรปรับให้เป็นระบบแมนวล

      ส่วนข้อควรระวังในการใช้งาน คือ อย่าลืมปรับโหมดการใช้งานล้อรถเข็นไฟฟ้าให้ถูกต้องตรงตามการใช้งานทุกครั้ง ห้ามใช้งานแบบแมนวลขณะที่ยังไม่ได้เปลี่ยนสวิทช์จากระบบไฟฟ้าไปเป็นแมนวลโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย

    5. การดูแลล้อของรถเข็นไฟฟ้า
      ล้อของรถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้ามีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ ล้อยางตัน และล้อแบบเติมลม

      • ล้อยางตัน ล้อยางตันนั้นจะมีลักษณะเป็นยางทั้งอัน ไม่ต้องเติมลมเข้าไปข้างในเพื่อให้ตัวยางฟูขึ้นมา ล้อยางตันมีข้อดีตรงความทนทาน และไม่ต้องคอยมาตรวจสอบลมยาง หรือเติมลมยางบ่อย ๆ

        แต่ข้อเสียคือ หากเลือกรถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าที่มีล้อยางตันไม่ได้คุณภาพ ล้อก็อาจแข็งเกินไป และไม่ซึมซับแรงกระแทก ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อผู้ป่วย หรือคนชราขณะกำลังใช้งาน อีกทั้งล้อยางตันยังมีน้ำหนักมาก ส่งผลให้ตัวรถเข็นไฟฟ้าหนักขึ้นด้วย ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าแบบล้อยางตัน ควรตรวจดูวัสดุที่ใช้ทำล้อรถให้ดี

        ส่วนการดูแลรักษาล้อยางตันนั้น ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเป็นครั้งคราวก็เพียงพอ และระวังไม่ให้ล้อไปกระแทกโดนของแข็ง ของมีคม รวมทั้งไม่ควรใช้งานรถเข็นไฟฟ้าบนถนนหรือทางเดินที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้ล้อยางตันเสื่อมสภาพได้

      • ล้อเติมลม
        เป็นล้อที่มีการใช้งานและการดูแลรักษาไม่ต่างกับล้อรถยนต์เลย นั่นคือควรหมั่นตรวจเช็คลมยางอยู่เสมอ และคอยเติมลมยาง เมื่อพบว่าลมยางอ่อนเกินไป และควรระวังไม่ให้ล้อยางแบบเติมลมถูกของมีคมทิ่มตำขณะใช้งาน เพราะจะทำให้ยางรั่วได้

        แม้รถวีลแชร์ไฟฟ้าแบบล้อเติมลม จะต้องมีการดูแลรักษามากกว่ารถวีลแชร์ไฟฟ้าแบบล้อยางตัน แต่ก็มีข้อดีคือการขับเคลื่อนที่นุ่มนวลกว่า เพราะล้อแบบเติมลมจะมีความยืดหยุ่นของเนื้อยาง ทำให้เนื้อยางกินผิวถนนหรือพื้นอาคาร ซึ่งจะช่วยดูดซับความสั่นสะเทือนและแรงกระแทกได้ดี

 

ข้อควรระวังในการใช้งานรถเข็นไฟฟ้า

และนอกจากการใส่ใจดูแลส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้ง 5 ส่วนของรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีข้อควรระวังในการใช้งาน ดังนี้

    • ห้ามนำรถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าไปใช้งานผิดประเภท เช่น ใช้ขนของ หรือใช้วางหรือลากสิ่งของ
    • ควรเก็บรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และควรระวังเรื่องความชื้นกับแสงแดดด้วย อาจวางที่ดูดความชื้นในห้องที่เก็บรถเข็นไฟฟ้าด้วยก็ได้
    • ควรหมั่นตรวจเช็ครถเข็นไฟฟ้าหรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าอยู่เสมอ แม้จะไม่ได้นำมาใช้งาน ก็ไม่ควรวางทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่ดูแล เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถเข็นไฟฟ้าอาจเสื่อมสภาพได้

หากหมั่นดูแลรักษาส่วนต่าง ๆ ของรถเข็นไฟฟ้า หรือรถผู้ป่วยไฟฟ้าอยู่เสมอ และใช้งานอย่างระมัดระวัง ก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานของรถเข็นไฟฟ้า หรือรถวีลแชร์ไฟฟ้าออกไปได้อีกนาน


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Email : sale.adlerdrive@gmail.com
Tel :  061-712-3773
Line: https://page.line.me/adlerdrive

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้